แพ้ตั้งแต่ระดับหัวเรือใหญ่! ความต่างชั้นระหว่างเจ้าของ แมนฯ ซิตี้ กับ แมนฯ ยูไนเต็ด

2012-13 คือฤดูกาลสุดท้ายที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จบฤดูกาลด้วยการมีอันดับดีกว่า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คู่อริร่วมเมืองของพวกเขา โดยในซีซั่นนั้น “ปีศาจแดง” ได้แชมป์ไปครอง ส่วน “เรือใบสีฟ้า” เป็นอันดับ 2 นอกจากนี้ นั่นยังเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่กุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด มีชื่อว่า เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ด้วย

    นับจากนั้นเป็นต้นมา แฟนบอล แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องทนเห็นสาวก แมนฯ ซิตี้ เยาะเย้ยพวกเขามาโดยตลอดจากการที่ แมนฯ ซิตี้ จะทำผลงานโดยรวมได้ดีกว่าพวกเขา แม้ว่าทั้ง 2 ทีมจะผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในเกม ดาร์บี้แมตช์ แต่ท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้หัวเราะดังกว่าคือฝั่งสีฟ้าของเมืองแมนเชสเตอร์

สถานการณ์ดังกล่าวถือว่าต่างกับหลายปีก่อนหน้านี้เยอะ เพราะแต่ก่อนจะเป็นฝั่งสีแดงของเมืองแมนเชสเตอร์ที่ได้เฮฮา ขณะที่ในช่วงนั้น แมนฯ ซิตี้ ไม่ใช่ทีมลุ้นแชมป์เหมือนในทุกวันนี้ จะเรียกว่าสถานการณ์มันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือก็ว่าได้

    แน่นอนว่าพอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น มันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าอะไรคือความแตกต่างที่ทำให้ตอนนี้ แมนฯ ซิตี้ ดีกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด หลายเท่า ซึ่งสิ่งแรกที่โผล่ขึ้นมาในหัวของหลายคนก็มักจะเป็นเรื่องผู้จัดการทีม หรือไม่ก็นักเตะ เพราะทั้ง 2 บทบาทดังกล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปเกมในสนามโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ที่จริงแล้วอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยน แมนฯ ซิตี้ จากผู้ตามเป็นผู้นำ และเปลี่ยน แมนฯ ยูไนเต็ด จากผู้นำเป็นผู้ตามในเมืองแมนเชสเตอร์คือเรื่องของ “เจ้าของทีม” หลังจากที่ แมนฯ ซิตี้ บริหารโดย ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน ส่วน แมนฯ ยูไนเต็ด มีตระกูลเกลเซอร์เป็นเจ้าของทีม โดยความแตกต่างหลักๆ ระหว่างหัวเรือใหญ่ของทั้งสองทีมมีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน

    – ความจริงจังในการบริหารทีม
    ภาพของ โจเอล กับ อัฟราม เกลเซอร์ 2 พี่น้องตระกูลเกลเซอร์ที่แฟน แมนฯ ยูไนเต็ด เห็นอยู่บ่อยๆ คือการที่ทั้งคู่มาชมเกมในสนาม โดยที่จะมีผู้บริหารมาอยู่ใกล้ๆ ด้วย แต่ทั้งคู่ก็มาแค่นั้น มันไม่ค่อยมีภาพที่พวกเขาจะเข้าสำนักงานของสโมสรเพื่อหารือแผนงานของทีม หรือร่วมกิจกรรมอะไรกับทีมเท่าไหร่

ทั้งนี้ 2 พี่น้องตระกูลเกลเซอร์คงคิดว่าหน้าที่ “เจ้าของทีม” คือการซื้อทีม แล้วมอบเงินหรืออนุมัติการใช้เงินในด้านต่างๆ เท่านั้น ส่วนงานบริหารปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนที่เป็นลูกน้อง แต่นั่นแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้จริงจังในการ “ทำให้ทีมประสบความสำเร็จ” พวกเขาแค่ “อยากเห็นทีมประสบความสำเร็จ” เท่านั้น

    ชีค มานซูร์ ตรงกันข้ามกับพี่น้องเกลเซอร์อย่างชัดเจน เขาลงมาบริหารทีมด้วยตัวเอง ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลูกน้องเพียงอย่างเดียว ซึ่งการทำแบบนั้นมันทำให้เขารับรู้ข้อดีข้อเสียของทีมอย่างชัดเจน จนสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งคือตอนที่ ยาย่า ตูเร่ กองกลางชาวไอวอรี่ โคสต์ เคยออกอาการงอแงที่ แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้ฉลองวันเกิดให้เขา พอรู้ข่าวนั้น ชีค มานซูร์ ก็ไม่รอช้า รีบดำเนินการทันที จนทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรงมากเกินไป นี่แหละคือหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า “ความจริงจังของการบริหารทีม”

    – การกำหนดแนวทางของทีมแบบชัดเจน
    หลายคนอาจจะบอกว่า แมนฯ ซิตี้ ชุดนี้โชคดีที่มี โจเซป กวาร์ดิโอล่า เป็นผู้จัดการทีม เพราะเขาถือเป็นหนึ่งในกุนซือที่เก่งที่สุดของโลกในยุคนี้ แถมยังวางระบบการเล่นเกมรุกได้โดดเด่น โดยหลักฐานที่สื่อถึงเรื่องนั้นได้ชัดเจนที่สุดก็คือผลงานของเขากับ บาร์เซโลน่า

    อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ แมนฯ ซิตี้ ได้ตัว กวาร์ดิโอล่า มาคุมทีมนั้น เป็นเพราะ ชีค มานซูร์ กำหนดแนวทางของทีมมาตั้งนานแล้วว่าต้องเน้นเกมบุกเป็นหลัก และเขาก็ปูทางไปสู่การเอา กวาร์ดิโอล่า มาเป็นกุนซือตั้งแต่ตอนที่ดึง เฟร์ราน โซเรียโน่ กับ ซิกิ เบกิริสไตน์ มาทำงานให้ทีมเมื่อปี 2012 แล้ว โดบ โซเรียโน่ เข้ามารับงานประธานบริหาร ส่วน เบกิริสไตน์ รับบทบาทผู้อำนวยการฟุตบอล

โซเรียโน่ กับ เบกิริสไตน์ เคยทำงานให้ บาร์เซโลน่า มาก่อน ดังนั้นพวกเขาจึงมีดีเอ็นเอของการการเล่นเกมบุกเป็นอย่างดี แถมทั้งคู่ยังสนิทสนมกับ กวาร์ดิโอล่า ด้วย หลังจากที่ทั้ง 3 คนเคยทำงานร่วมกันในถิ่น คัมป์ นู จนท้ายที่สุดพวกเขาก็ได้มาร่วมงานกันอีกครั้งบนเกาะอังกฤษ

    ต่อให้ไม่นับกรณีของ กวาร์ดิโอล่า ความมุ่งมั่นในการให้ทีมเล่นเกมบุกเต็มสูบของ ชีค มานซูร์ ก็ชัดเจนตั้งแต่ตอนที่ดึง มานูเอล เปเยกรีนี่ เข้ามาเป็นกุนซือของทีมแล้ว

    ก่อนหน้าที่ เปเยกรีนี่ จะได้มาทำงานกับ แมนฯ ซิตี้ นั้น เขาไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังมากมายอะไร อย่างดีก็แค่เคยคุม เรอัล มาดริด รวมถึงเคยทำผลงานได้สวยหรูกับ บียาร์เรอัล และ มาลาก้า เท่านั้น แต่สาเหตุที่ทำให้ ชีค มานซูร์ ตกลงใช้บริการของ เปเยกรีนี่ เป็นเพราะกุนซือชาวชิลีมีสไตล์การทำทีมที่เล่นเกมบุกได้น่าตื่นตาตื่นใจนั่นเอง

ในทางกลับกัน ถ้าไม่นับกรณีของ เฟอร์กูสัน ที่อยู่กับทีมมานาน รวมถึง เดวิด มอยส์ ที่เป็นคนที่ เฟอร์กูสัน ขอไว้เองแล้วนั้น ตระกูลเกลเซอร์กลับไม่ได้แสดงความชัดเจนเลยว่าทีมควรจะไปในทิศทางไหน แค่กำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่า “ต้องประสบความสำเร็จ” เท่านั้น

    หรือคุณจะบอกว่าสาเหตุที่พวกเขาเอา โชเซ่ มูรินโญ่ มาคุมทีม เป็นเพราะอยากให้ “ปีศาจแดง” เป็นทีมที่เล่นเกมบุกได้น่าสนุกจนนั่งไม่ติดเก้าอี้อย่างนั้นเหรอ ?